หมวดที่ 4 การดำเนินงาน
Posted: admin Date: 2015-05-19 13:39:17
IP: 182.53.101.33
 

หมวด 4

การดำเนินงาน

 

            ข้อ 9.  การลงลายมือชื่อแทนสหกรณ์    การลงลายมือชื่อเพื่อให้ผลผูกพันสหกรณ์  เว้นแต่จะกำหนดไว้เป็นพิเศษตามข้อบังคับนี้  ให้ปฏิบัติดังนี้

(1)          หนังสือกู้ยืมซึ่งสหกรณ์เป็นผู้กู้ยืม  ตลอดจนการเบิกหรือรับเงินกู้     การจำนองซึ่งสหกรณ์เป็นผู้จำนอง  การถอนเงินฝากของสหกรณ์  และในนิติกรรมอื่น ๆ  จะต้องลงลายมือชื่อประธานกรรมการ  หรือ รองประธานกรรมการ  หรือ เลขานุการ หรือ เหรัญญิก  หรือ ผู้จัดการ  โดยคณะกรรมการดำเนินการมอบหมายรวมเป็นสองคน

(2)          การรับฝากเงิน  ใบรับเงินและเอกสารทั้งปวง    นอกจากที่กล่าวไว้ใน (1)  ข้างบนจะต้องลงลายมือชื่อผู้จัดการ  หรือกรรมการที่ได้รับมอบหมาย

อนึ่ง    ในหนังสือกู้ยืมซึ่งสหกรณ์เป็นผู้กู้ยืม     ใบสั่งจ่ายเงิน   ใบรับเงิน    ตั๋วสัญญาใช้เงิน และตราสารทางการเงินของสหกรณ์นั้น  ต้องประทับตราของสหกรณ์เป็นสำคัญด้วย  ยกเว้น เช็ค

 

วงเงินกู้ยืมหรือการค้ำประกัน

 

            ข้อ 10.  วงเงินกู้ยืมหรือการค้ำประกัน      ที่ประชุมใหญ่อาจกำหนดวงเงินกู้ยืม  หรือการค้ำประกันสำหรับปีหนึ่ง ๆ ไว้ตามที่จำเป็นและสมควรแก่การดำเนินงาน  วงเงินซึ่งกำหนดดังว่านี้  ต้องได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียนสหกรณ์

                ถ้าที่ประชุมใหญ่ยังมิได้กำหนด  หรือ นายทะเบียนสหกรณ์ยังมิได้ให้ความเห็นชอบวงเงินกู้ยืม หรือการค้ำประกันสำหรับปีใด  ก็ให้ใช้วงเงินกู้ยืมหรือการค้ำประกันสำหรับปีก่อนไปพลาง 

            ข้อ 11.  การกู้ยืมเงินหรือการค้ำประกัน     สหกรณ์อาจกู้ยืมเงินหรือออกตั๋วสัญญาใช้เงิน หรือตราสารทางการเงินหรือโดยวิธีอื่นใด    สำหรับใช้เป็นทุนดำเนินงานตามวัตถุประสงค์ได้ตามที่คณะกรรมการดำเนินการเห็นสมควร  ทั้งนี้  จะต้องอยู่ภายในวงเงินกู้ยืมหรือการค้ำประกันประจำปีตามข้อ 10

การรับฝากเงิน

            ข้อ 12.  การรับฝากเงิน สหกรณ์อาจรับฝากเงินประเภทออมทรัพย์   หรือฝากประจำจากสมาชิก หรือสหกรณ์อื่นหรือสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ซึ่งมีสมาชิกของสมาคมนั้นไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งเป็นสมาชิกของสหกรณ์ผู้รับฝากเงิน  ทั้งนี้  ตามระเบียบของสหกรณ์ที่ได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียนสหกรณ์

                ข้อกำหนดเกี่ยวกับ  การฝาก  ดอกเบี้ย  การถอนเงินฝาก และข้อกำหนดอื่น ๆ ว่าด้วยเงินฝากออมทรัพย์หรือเงินฝากประจำนั้น  ให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในระเบียบของสหกรณ์

                ให้สหกรณ์ดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องตามหลักเกณฑ์ และ วิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

การให้เงินกู้

            ข้อ 13.  การให้เงินกู้  เงินกู้นั้นอาจให้แก่

(1)       สมาชิกของสหกรณ์

(2)       สหกรณ์อื่น

การให้เงินกู้แก่สมาชิกนั้น ให้คณะกรรมการดำเนินการมีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยให้เงินกู้ได้ตามข้อบังคับนี้และตามระเบียบของสหกรณ์

ข้อกำหนดต่าง ๆ   เกี่ยวกับหลักเกณฑ์การพิจารณาวินิจฉัยให้เงินกู้      หลักประกันสำหรับเงินกู้ ลำดับแห่งการให้เงินกู้ เงินงวดชำระหนี้สำหรับเงินกู้ และข้อกำหนดอื่น ๆ ว่าด้วยการให้เงินกู้แก่สมาชิกนั้น  ให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในระเบียบของสหกรณ์

                การให้เงินกู้แก่สหกรณ์อื่นนั้น  คณะกรรมการดำเนินการจะพิจารณาให้กู้ได้ต่อเมื่อ  สหกรณ์มีเงินทุนเหลือจากการให้เงินกู้แก่สมาชิกแล้ว  ตามระเบียบของสหกรณ์ที่ได้รับความเห็นชอบจาก       นายทะเบียนสหกรณ์

                สมาชิก  หรือสหกรณ์อื่น ซึ่งประสงค์จะขอกู้เงินจากสหกรณ์นี้  ต้องเสนอคำขอกู้เงินตามแบบและระเบียบของสหกรณ์ที่กำหนดไว้

                ข้อ 14.  ความมุ่งหมายแห่งเงินกู้   เงินกู้ซึ่งให้แก่สมาชิก ไม่ว่าประเภทใด ๆ จะให้ได้แต่เฉพาะเพื่อการอันจำเป็น หรือมีประโยชน์ตามที่คณะกรรมการดำเนินการเห็นสมควร

                ให้คณะกรรมการดำเนินการสอดส่อง และกวดขันการใช้เงินกู้ของสมาชิก    ให้ตรงตามความมุ่งหมายที่ให้เงินกู้นั้น

                ข้อ 15.  ประเภทแห่งเงินกู้  สหกรณ์อาจให้เงินกู้แก่สมาชิกได้ตามประเภทดังต่อไปนี้

                                (1)  เงินกู้เพื่อเหตุฉุกเฉิน  ในกรณีที่สมาชิกมีเหตุฉุกเฉิน  หรือเหตุอันจำเป็นรีบด่วน และมีความประสงค์ขอกู้เงิน คณะกรรมการดำเนินการอาจให้เงินกู้เพื่อเหตุนั้นได้ตามระเบียบของ สหกรณ์

                                (2)  เงินกู้สามัญ  ในกรณีที่สมาชิกมีความประสงค์ขอกู้เงินสำหรับใช้จ่ายเงินเพื่อการอันจำเป็น หรือมีประโยชน์ต่าง ๆ  คณะกรรมการดำเนินการอาจพิจารณาให้เงินกู้สามัญแก่สมาชิกนั้นได้ ตามระเบียบของสหกรณ์

                                (3)  เงินกู้พิเศษ    เมื่อสหกรณ์มีฐานะการเงินก้าวหน้าพอที่จะช่วยเหลือให้เงินกู้ เพื่อ  ส่งเสริมฐานะความมั่นคง  หรือเพื่อการเคหะ  หรือก่อประโยชน์งอกเงยแก่สมาชิกได้  คณะกรรมการดำเนินการอาจให้เงินกู้พิเศษแก่สมาชิกนั้นได้ตามที่เห็นสมควร         โดยผู้ขอกู้ต้องระบุความมุ่งหมายแต่ละอย่างของเงินกู้ประเภทนี้ ตลอดจนเงื่อนไขและวิธีการและต้องมีหลักประกันตามที่กำหนดไว้ในระเบียบของสหกรณ์

                ข้อ 16.  ดอกเบี้ยเงินกู้   ให้สหกรณ์เรียกดอกเบี้ยเงินกู้ทุกประเภทที่ให้แก่สมาชิก ในอัตราตามที่กำหนดไว้ในระเบียบของสหกรณ์

                ข้อ 17.  การควบคุมหลักประกันและการเรียกคืนเงินกู้      ให้คณะกรรมการดำเนินการ ตรวจตราควบคุมให้เงินกู้ทุกรายมีหลักประกันตามที่กำหนดไว้ในระเบียบของสหกรณ์  และเมื่อคณะกรรมการดำเนินการเห็นว่า หลักประกันสำหรับเงินกู้รายใดเกิดบกพร่อง  ผู้กู้จะต้องจัดการแก้ไขให้คืนดีภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการดำเนินการกำหนด

                ในกรณีอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้  ให้ถือว่าเงินกู้ไม่ว่าประเภทใด ๆ เป็นอันถึงกำหนดชำระคืนโดยสิ้นเชิงพร้อมทั้งดอกเบี้ยในทันที  โดยมิพักต้องคำนึงถึงกำหนดเวลาที่ให้ไว้และให้คณะกรรมการดำเนินการจัดการเรียกคืนโดยมิชักช้า

(1)       เมื่อสมาชิกผู้กู้ออกจากสหกรณ์ไม่ว่าเพราะเหตุใด

(2)       เมื่อปรากฏต่อคณะกรรมการดำเนินการว่า     ผู้กู้นำเงินกู้ไปใช้ผิดความมุ่งหมายให้เงินกู้นั้น

(3)       เมื่อคณะกรรมการดำเนินการ เห็นว่า  หลักประกันสำหรับเงินกู้รายใดเกิดบกพร่องและผู้กู้มิได้จัดการแก้ไขให้คืนดีภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการดำเนินการกำหนด

(4)       เมื่อสมาชิกผู้กู้ค้างชำระเงินงวดชำระหนี้        ไม่ว่าต้นเงินหรือดอกเบี้ยเป็นเวลาถึงสองงวดติดต่อกัน  หรือผิดนัดการชำระเงินงวดชำระหนี้ดังว่านั้นถึงสามคราวสำหรับเงินกู้รายหนึ่ง ๆ

                ในกรณีที่ผู้ค้ำประกันจะต้องรับผิดชำระหนี้แทนผู้กู้ตามที่กล่าวในวรรคก่อน  และไม่สามารถชำระหนี้นั้นโดยสิ้นเชิงได้  เมื่อผู้ค้ำประกันร้องขอ คณะกรรมการดำเนินการอาจผ่อนผันให้ผู้ค้ำประกันชำระเป็นงวดรายเดือนจนครบจำนวนตามที่ผู้กู้ได้ทำหนังสือกู้ให้ไว้ต่อสหกรณ์ก็ได้       แต่ทั้งนี้  ต้องไม่เกินจำนวนงวดสำหรับเงินกู้ประเภทนั้น

                ข้อ 18.  ความผูกพันของผู้กู้และผู้ค้ำประกัน   ผู้กู้หรือผู้ค้ำประกันต้องรับผูกพันว่า ถ้าตนประสงค์จะขอโอน หรือย้าย หรือลาออกจากราชการ หรืองานประจำตามข้อ 31 (3)  จะต้องแจ้งเป็นหนังสือให้สหกรณ์ทราบ และจัดการชำระหนี้สินซึ่งตนมีอยู่ต่อสหกรณ์ให้เสร็จสิ้นเสียก่อน  เว้นแต่ กรณียังคงเป็นสมาชิกอยู่ตามข้อ 43

การฝากหรือลงทุนเงินสหกรณ์

            ข้อ 19.  การฝากหรือลงทุนเงินของสหกรณ์      เงินของสหกรณ์นั้น สหกรณ์อาจฝากหรือลงทุนได้ตามที่กำหนดไว้ในวัตถุประสงค์ของสหกรณ์  ภายใต้กฎหมายว่าด้วยสหกรณ์  โดยให้คำนึงถึงความมั่นคงและประโยชน์สูงสุดที่สหกรณ์หรือสมาชิกจะได้รับ

การเงินและการบัญชีของสหกรณ์

            ข้อ 20.  การบัญชีของสหกรณ์  ให้สหกรณ์จัดให้มีการทำบัญชีตามแบบและรายการที่นายทะเบียนสหกรณ์กำหนด  และเก็บรักษาบัญชีและเอกสารประกอบการลงบัญชีไว้ที่สำนักงานสหกรณ์  ภายในระยะเวลาที่นายทะเบียนสหกรณ์กำหนด  วันสิ้นปีทางบัญชีของสหกรณ์ให้สิ้นสุด   ณ วันที่ 31 ตุลาคม ของทุกปี

                เมื่อสิ้นปีทางบัญชีทุกปี    ให้สหกรณ์จัดทำงบดุลรวมทั้งบัญชีกำไรขาดทุน   ตามแบบที่นายทะเบียนสหกรณ์กำหนด

                การบันทึกรายการในบัญชีเกี่ยวกับกระแสเงินสด ให้บันทึกรายการในวันเกิดเหตุนั้น สำหรับเหตุอื่นที่ไม่เกี่ยวกับกระแสเงินสดให้บันทึกรายการในสมุดบัญชีภายในสามวัน  นับแต่วันที่มีเหตุอันจะต้องบันทึกรายการนั้น  และการลงบัญชีต้องมีเอกสารประกอบการลงบัญชีที่สมบูรณ์โดยครบถ้วน

                ข้อ 21.  การเสนองบดุลต่อที่ประชุมใหญ่   ให้คณะกรรมการดำเนินการเสนองบดุลซึ่งผู้สอบบัญชีได้ตรวจสอบ และรับรองแล้วต่อที่ประชุมใหญ่เพื่อพิจารณาอนุมัติภายในหนึ่งร้อยห้าสิบวัน นับแต่วันสิ้นปีทางบัญชี

                การเสนองบดุล ให้คณะกรรมการดำเนินการเสนอรายงานประจำปี แสดงผลการดำเนินงานของสหกรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ด้วย

                ให้สหกรณ์ส่งสำเนางบดุลที่เสนอต่อที่ประชุมใหญ่สามัญนั้น    ไปยังสมาชิกทุกคน  และให้เปิดเผยไว้ ณ สำนักงานของสหกรณ์ก่อนวันประชุมใหญ่ไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน

                ให้สหกรณ์ส่งสำเนารายงานประจำปี แสดงผลการดำเนินงานของสหกรณ์  กับงบดุล  ไปยังนายทะเบียนสหกรณ์ ภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่มีการประชุมใหญ่

                อนึ่ง  ให้สหกรณ์เก็บรักษารายงานประจำปี  แสดงผลการดำเนินงานของสหกรณ์  และงบดุล  พร้อมทั้งข้อบังคับและกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์  ไว้ที่สำนักงานของสหกรณ์ เพื่อให้สมาชิกขอตรวจดูได้

กำไรสุทธิประจำปี

            ข้อ 22.  การจัดสรรกำไรสุทธิประจำปี       เมื่อสิ้นปีทางบัญชีและได้ปิดบัญชีตามมาตรฐานการบัญชีที่รับรองโดยทั่วไปแล้ว  ปรากฏว่า สหกรณ์มีกำไรสุทธิให้จัดสรรเป็นทุนสำรองไม่น้อยกว่าร้อยละสิบของกำไรสุทธิ   และเป็นค่าบำรุงสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย  ไม่เกินร้อยละห้าของกำไรสุทธิ  แต่ต้องไม่เกินอัตราที่คณะกรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติกำหนด

                กำไรสุทธิประจำปีที่เหลือ จากการจัดสรรเป็นทุนสำรองและค่าบำรุงสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย  ที่ประชุมใหญ่อาจจัดสรรได้ภายใต้ข้อบังคับดังต่อไปนี้

(1)        เป็นเงินปันผลตามหุ้นที่ชำระแล้วให้แก่สมาชิกแต่ละคน  ในอัตราไม่เกินที่กำหนด

ในกฎกระทรวง       โดยคิดให้ตามส่วนแห่งระยะเวลา      อนึ่ง  ถ้าสหกรณ์ถอนทุนรักษาระดับ อัตราเงินปันผลตาม (4)  ออกจ่ายเป็นเงินปันผลสำหรับปีใดด้วย  จำนวนเงินปันผลทั้งสิ้นที่จ่ายสำหรับปีนั้น  ก็ต้องไม่เกินอัตราดังกล่าวมาแล้ว

ในการคำนวณเงินปันผลตามหุ้น    ให้ถือว่าหุ้นที่สมาชิกได้ชำระต่อสหกรณ์      ภายในวันที่เจ็ด

ของเดือน  มีระยะเวลาสำหรับคำนวณเงินปันผลตั้งแต่เดือนนั้น  ส่วนหุ้นที่สมาชิกชำระต่อสหกรณ์หลังวันที่เจ็ดของเดือน  สหกรณ์จะคิดเงินปันผลให้ตั้งแต่เดือนถัดไป

(2)        เป็นเงินเฉลี่ยคืนให้แก่สมาชิกตามส่วนจำนวนรวมแห่งดอกเบี้ยเงินกู้  ซึ่งสมาชิกนั้น ๆ ได้ส่งแก่สหกรณ์ในระหว่างปี  แต่สมาชิกที่ผิดนัดการส่งเงินงวดชำระหนี้     ไม่ว่าต้นเงินหรือดอกเบี้ยในปีใดมิให้ได้รับเงินเฉลี่ยคืนสำหรับปีนั้น

(3)        เป็นเงินโบนัสแก่กรรมการและเจ้าหน้าที่ของสหกรณ์ไม่เกินร้อยละสิบของกำไรสุทธิ

(4)        เป็นทุนรักษาระดับอัตราเงินปันผลไม่เกินร้อยละสอง แห่งทุนเรือนหุ้นของ

สหกรณ์  ตามที่มีอยู่ในวันสิ้นปี  ทุนรักษาระดับอัตราเงินปันผลนี้ จะถอนได้โดยมติแห่งที่ประชุมใหญ่เพื่อจ่ายเป็นเงินปันผลตามหุ้น ตาม (1)

(5)        เป็นทุนสาธารณประโยชน์ไม่เกินร้อยละสิบของกำไรสุทธิ ทุนสาธารณประโยชน์นี้  ให้สหกรณ์สะสมไว้สำหรับใช้จ่ายเพื่อการศึกษาโดยทั่วไป  หรือเพื่อการศึกษาอบรมทางสหกรณ์  หรือสาธารณประโยชน์ หรือการกุศลตามที่กำหนดไว้ในระเบียบของสหกรณ์

(6)        เป็นทุนสวัสดิการ หรือการสงเคราะห์ตามสมควรแก่สมาชิกและครอบครัว ไม่เกินร้อยละสิบของกำไรสุทธิตามที่กำหนดไว้ในระเบียบของสหกรณ์

(7)        เป็นทุนเพื่อจัดตั้งสำนักงาน  หรือกองทุนต่าง ๆ    เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงให้แก่สหกรณ์

(8)        กำไรสุทธิส่วนที่เหลืออยู่ (ถ้ามี)  ให้จัดสรรเป็นทุนสำรองทั้งสิ้น

ทุนสำรอง

            ข้อ 23.  ที่มาแห่งทุนสำรองนั้น    ทุนสำรองนั้น     นอกจากจัดสรรจากกำไรสุทธิตามข้อ 22 แล้ว  บรรดาเงินอุดหนุนหรือทรัพย์สินที่มีผู้ยกให้แก่สหกรณ์        ถ้าผู้ยกให้มิได้ระบุว่าให้ใช้เพื่อการใดโดยเฉพาะ   ก็ให้จัดสรรเป็นทุนสำรองทั้งสิ้น

                อนึ่ง  จำนวนเงินซึ่งสหกรณ์พึงจ่ายแก่บุคคลใดก็ตาม        ถ้าไม่มีการเรียกร้องจนพ้นกำหนดอายุความ  ก็ให้จัดสรรจำนวนเงินนั้นเป็นทุนสำรอง

                กำไรสุทธิประจำปีของสหกรณ์  ซึ่งคณะกรรมการดำเนินการเสนอแนะให้ที่ประชุมใหญ่       จัดสรรตามข้อ 22   หากที่ประชุมใหญ่พิจารณาแล้ว  เห็นว่ารายการใดไม่สมควรจัดสรร หรือตัดจำนวนให้น้อยลงก็ดี  ยอดเงินจำนวนดังกล่าว ให้จัดสรรเป็นทุนสำรองทั้งสิ้น

                ข้อ 24.  สภาพแห่งทุนสำรอง   ทุนสำรองย่อมเป็นของสหกรณ์โดยส่วนรวม    สมาชิกจะแบ่งปันกันไม่ได้  หรือจะเรียกร้องแม้ส่วนใดส่วนหนึ่งก็ไม่ได้

                ทุนสำรองจะถอนได้ ก็แต่เพื่อชดเชยการขาดทุนอันหากบังเกิดขึ้น    หรือเพื่อจัดสรรเข้าบัญชีทุนสำรองให้แก่สหกรณ์ใหม่ที่ได้จดทะเบียนแบ่งแยกจากสหกรณ์เดิม  ย่อมโอนไปให้แก่สหกรณ์ใหม่ ตั้งแต่วันที่นายทะเบียนสหกรณ์รับจดทะเบียน

ทะเบียน  บัญชี  และเอกสารอื่น ๆ

            ข้อ 25.  ทะเบียน  และบัญชี     ให้สหกรณ์มีทะเบียนสมาชิก ทะเบียนหุ้นและทะเบียนอื่น ๆ ตลอดจนสมุดรายงานการประชุม    และบัญชีตามแบบที่นายทะเบียนสหกรณ์กำหนด      และตามที่คณะกรรมการดำเนินการเห็นสมควรให้มีขึ้น

                เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรายการในทะเบียนสมาชิกหรือทะเบียนหุ้น       ให้สหกรณ์แจ้งการเปลี่ยนแปลงต่อนายทะเบียนสหกรณ์ภายในสามสิบวัน นับแต่วันสิ้นปีทางบัญชีของสหกรณ์

                สมาชิกอาจขอตรวจดูเอกสารดังกล่าวในวรรคก่อนได้  ณ  สำนักงานของสหกรณ์ในระหว่างเวลาทำงาน  แต่จะดูบัญชีหรือทะเบียนเกี่ยวกับ เงินค่าหุ้น เงินฝาก หรือเงินกู้ของสมาชิกรายอื่นไม่ได้  นอกจากจะได้รับความยินยอมเป็นหนังสือของสมาชิกนั้น  และได้รับอนุญาตจากผู้จัดการก่อน

                ข้อ 26.  กฎหมายและข้อบังคับ     ให้สหกรณ์จัดให้มีพระราชบัญญัติสหกรณ์  และกฎกระทรวงออกตามความในพระราชบัญญัติสหกรณ์ซึ่งคงใช้อยู่กับข้อบังคับและระเบียบของสหกรณ์นี้ไว้  ณ  สำนักงานของสหกรณ์  สมาชิกและผู้สนใจอาจขอตรวจดูได้โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม

การสอบบัญชีและการกำกับดูแล

            ข้อ 27.  การสอบบัญชี   บัญชีของสหกรณ์นั้น  ต้องได้รับการตรวจสอบอย่างน้อยปีละครั้ง  โดยผู้สอบบัญชีซึ่งนายทะเบียนสหกรณ์แต่งตั้ง

                ข้อ 28.  การกำกับดูแล  นายทะเบียนสหกรณ์  รองนายทะเบียนสหกรณ์  ผู้ตรวจการสหกรณ์ หรือผู้สอบบัญชี  หรือ พนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งนายทะเบียนสหกรณ์มอบหมาย  มีอำนาจออกคำสั่งเป็นหนังสือให้คณะกรรมการดำเนินการ  ผู้ตรวจสอบกิจการ  ผู้จัดการ  เจ้าหน้าที่  และสมาชิกของสหกรณ์  มาชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกิจการของสหกรณ์  หรือให้ส่งเอกสารเกี่ยวกับการดำเนินงานหรือรายงานการประชุมได้  ทั้งอาจเรียกและเข้าร่วมประชุมใหญ่ หรือประชุมคณะกรรมการดำเนินการ หรือประชุมคณะกรรมการอื่น ๆ ตลอดจนตรวจสอบ สรรพสมุดบัญชี ทะเบียน เอกสารและใบสำคัญต่าง ๆ ของ สหกรณ์ได้

                ทั้งนี้  ให้ผู้ซึ่งเกี่ยวข้องตามความในวรรคหนึ่งอำนวยความสะดวกและชี้แจงข้อความในเรื่องเกี่ยวกับกิจการของสหกรณ์ให้ทราบตามสมควร

                ข้อ 29.  การส่งรายการหรือรายงาน       ให้สหกรณ์ส่งรายการ หรือรายงานเกี่ยวกับกิจการของสหกรณ์  ต่อหน่วยงานที่กำกับดูแล ตามแบบและระยะเวลาที่หน่วยงานนั้นกำหนด