หมวดที่ 7 การประชุมใหญ่
Posted: admin Date: 2015-05-19 13:49:45
IP: 182.53.101.33
 

หมวด 7

การประชุมใหญ่

            ข้อ 63.  การประชุมใหญ่สามัญ    ให้คณะผู้จัดตั้งสหกรณ์นัดสมาชิกมาประชุมกันเป็นการประชุมใหญ่สามัญครั้งแรก ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่จดทะเบียนสหกรณ์  เพื่อเลือกตั้งคณะกรรมการดำเนินการและมอบหมายการทั้งปวงให้แก่คณะกรรมการดำเนินการ

                การประชุมใหญ่สามัญครั้งต่อไป      ให้คณะกรรมการดำเนินการเรียกประชุมปีละหนึ่งครั้ง ภายในหนึ่งร้อยห้าสิบวันนับแต่วันสิ้นปีทางบัญชีของสหกรณ์

                ข้อ 64.  การประชุมใหญ่วิสามัญ     คณะกรรมการดำเนินการจะเรียกประชุมใหญ่วิสามัญเมื่อใดก็สุดแต่จะเห็นสมควร แต่ถ้านายทะเบียนสหกรณ์มีหนังสือแจ้งให้เรียกประชุมใหญ่วิสามัญ หรือ ในกรณีที่สหกรณ์เกิดการขาดทุนเกินกึ่งของจำนวนทุนเรือนหุ้นที่ชำระแล้ว  ต้องเรียกประชุมใหญ่วิสามัญโดยมิชักช้า  แต่ไม่เกินสามสิบวันนับแต่วันที่สหกรณ์ทราบ

                สมาชิกซึ่งมีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมด          หรือไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยคน หรือผู้แทนสมาชิกซึ่งมีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนผู้แทนสมาชิกทั้งหมด หรือไม่น้อยกว่าห้าสิบคนลงลายมือชื่อ  ทำหนังสือร้องขอเพื่อการใดการหนึ่งต่อคณะกรรมการดำเนินการ ให้เรียกประชุมใหญ่วิสามัญก็ได้ และให้คณะกรรมการดำเนินการเรียกประชุมใหญ่วิสามัญภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่รับคำร้องขอ

                ถ้าคณะกรรมการดำเนินการ  ไม่เรียกประชุมใหญ่วิสามัญภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าว    ข้างต้น  ให้นายทะเบียนสหกรณ์มีอำนาจเรียกประชุมใหญ่วิสามัญได้ ภายในระยะเวลาที่เห็นสมควร

                ข้อ 65.  การประชุมใหญ่โดยผู้แทนสมาชิก     กรณีที่สหกรณ์มีสมาชิกเกินกว่าห้าร้อยคน  อาจประชุมใหญ่โดยผู้แทนสมาชิกก็ได้

                ข้อ 66.  การเลือกตั้ง  จำนวนและการดำรงตำแหน่ง ผู้แทนสมาชิก

(1)       สมาชิกเท่านั้นมีสิทธิได้รับเลือกตั้งเป็นผู้แทนสมาชิก

(2)       การเลือกตั้งผู้แทนสมาชิกคราวหนึ่ง ๆ ให้กระทำในที่ประชุมกลุ่ม ก่อนการประชุมใหญ่สามัญของสหกรณ์ทุกครั้ง ไม่น้อยกว่าสามสิบวัน  และให้ประธานกลุ่มหรือเลขานุการกลุ่ม แจ้งรายชื่อผู้แทนสมาชิกในกลุ่มของตนที่สหกรณ์โดยมิชักช้า

(3)       ให้ที่ประชุมกลุ่มดำเนินการเลือกตั้งผู้แทนสมาชิก     โดยอัตราส่วนจำนวนสมาชิกสิบคนต่อผู้แทนสมาชิกหนึ่งคน  ถ้าเศษของอัตราส่วนดังกล่าวเกินครึ่งหนึ่ง ให้เลือกตั้งผู้แทนสมาชิกเพิ่มขึ้นอีกคนหนึ่ง  ในจำนวนนี้ให้ประธานกลุ่มเป็นผู้แทนสมาชิกโดยตำแหน่ง โดยให้นับรวมอยู่ในจำนวนผู้แทนสมาชิกที่กลุ่มพึงเลือกตั้งได้  อนึ่ง จำนวนผู้แทนสมาชิกในสหกรณ์หนึ่ง ๆ ต้องไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยคน

(4)       ให้ผู้แทนสมาชิกอยู่ในตำแหน่งคราวละหนึ่งปีนับตั้งแต่วันเลือกตั้ง   ถ้ายังไม่มีการเลือกตั้งผู้แทนสมาชิกใหม่  ก็ให้มีผู้แทนสมาชิกคนเดิมอยู่ในตำแหน่งต่อไปพลาง ๆ

                ข้อ 67.  การพ้นจากตำแหน่ง   ผู้แทนสมาชิกพ้นจากตำแหน่ง  เมื่อ

(1)       ครบวาระหรือมีการเลือกตั้งผู้แทนสมาชิกใหม่

(2)       ลาออกโดยยื่นใบลาออกต่อที่ประชุมกลุ่มซึ่งตนสังกัด

(3)       ขาดจากสมาชิกภาพ

(4)       ที่ประชุมกลุ่มซึ่งตนสังกัดลงมติถอดถอน

ข้อ 68.  ตำแหน่งผู้แทนสมาชิกว่างก่อนถึงคราวออกตามวาระ   ถ้าผู้แทนสมาชิกพ้นจากตำแหน่งไม่ว่าด้วยประการใด ๆ จนทำให้จำนวนผู้แทนสมาชิกเหลือไม่ถึงหนึ่งร้อยคน  หรือ เหลือไม่ถึง สามในสี่ของจำนวนผู้แทนสมาชิกทั้งหมด  ก็ให้ที่ประชุมกลุ่มดำเนินการเลือกตั้งผู้แทนสมาชิกให้ครบตามจำนวนที่ว่างลง และให้อยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่าที่กำหนดเวลาที่ผู้ซึ่งตนแทนนั้นชอบอยู่ได้

            ข้อ 69.  การแจ้งกำหนดการประชุมใหญ่          เมื่อมีการประชุมใหญ่ทุกคราว  ให้สหกรณ์มีหนังสือแจ้งวัน เวลา  สถานที่  และเรื่องที่จะประชุมให้บรรดาสมาชิกผู้แทนสมาชิกทราบล่วงหน้า    ไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน  แต่ถ้าการประชุมนั้นเป็นการด่วน  อาจแจ้งล่วงหน้าได้ตามสมควร  ทั้งนี้  ให้ประธานกรรมการ หรือรองประธานกรรมการ หรือเลขานุการเป็นผู้ลงชื่อในหนังสือนั้น  และต้องแจ้งเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมสหกรณ์และเจ้าหน้าที่กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ล่วงหน้า  ในโอกาสเดียวกันกับที่แจ้งให้สมาชิก หรือผู้แทนสมาชิก ทราบด้วย

                ข้อ 70.  องค์ประชุมในการประชุมใหญ่     การประชุมใหญ่ของสหกรณ์ต้องมีสมาชิกมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งหมด  หรือไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยคน หรือมีผู้แทนสมาชิกมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนผู้แทนสมาชิกทั้งหมด    หรือไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยคน จึงจะเป็นองค์ประชุม

ในการประชุมใหญ่คราวใดมีสมาชิก หรือผู้แทนสมาชิกมาประชุมไม่ครบองค์ประชุม ให้นัดประชุมใหญ่อีกครั้งหนึ่งภายในสิบสี่วัน นับแต่วันที่นัดประชุมใหญ่ครั้งแรก  ในการประชุมครั้งหลังนี้      ถ้ามิใช่การประชุมใหญ่วิสามัญที่สมาชิกหรือผู้แทนสมาชิกร้องขอให้เรียกประชุมแล้ว   เมื่อมีสมาชิกหรือ ผู้แทนสมาชิกมาประชุมไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกหรือผู้แทนสมาชิกทั้งหมด  หรือ     ไม่น้อยกว่าสามสิบคน  ก็ให้ถือเป็นองค์ประชุม  แต่ถ้าเป็นการประชุมใหญ่วิสามัญที่สมาชิก หรือผู้แทนสมาชิกร้องขอให้เรียกประชุม  เมื่อมีสมาชิกหรือผู้แทนสมาชิกมาประชุมมีจำนวนไม่ถึงที่จะเป็น      องค์ประชุม ตามที่กล่าวในวรรคแรกก็ให้งดการประชุม ในการประชุมใหญ่  สมาชิกหรือผู้แทนสมาชิกจะมอบอำนาจให้ผู้อื่นมาประชุมแทนตนไม่ได้

              ข้อ 71.  อำนาจหน้าที่ของที่ประชุมใหญ่    ที่ประชุมใหญ่มีอำนาจหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยปัญหาทุกอย่างที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับกิจการของสหกรณ์ ซึ่งรวมทั้งในข้อต่อไปนี้

(1)            รับทราบเรื่องรับสมาชิกเข้าใหม่และออกจากสหกรณ์   การเลือกตั้งผู้แทนสมาชิกและวินิจฉัยข้ออุทธรณ์ของผู้สมัคร ซึ่งมิได้รับเลือกเข้าเป็นสมาชิกและสมาชิกที่ถูกให้ออกจากสหกรณ์

(2)            พิจารณาเลือกตั้งหรือถอดถอนกรรมการดำเนินการ    และผู้ตรวจสอบกิจการของสหกรณ์

(3)            พิจารณาอนุมัติงบดุล และจัดสรรกำไรสุทธิประจำปีของสหกรณ์

(4)            รับทราบรายงานประจำปีแสดงผลการดำเนินงานของสหกรณ์ ของคณะกรรมการดำเนินการ และรายงานของผู้ตรวจสอบกิจการของสหกรณ์

(5)            พิจารณาคัดเลือกผู้สอบบัญชี และกำหนดค่าธรรมเนียมการสอบบัญชี

(6)            พิจารณากำหนดวงเงินซึ่งสหกรณ์อาจกู้ยืมหรือค้ำประกัน

(7)            อนุมัติแผนงานและประมาณการรายจ่ายประจำปีของสหกรณ์

(8)            พิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับ

(9)            รับทราบเรื่องการดำเนินงานของสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย และหรือชุมนุมสหกรณ์ หรือหน่วยงานอื่นที่สหกรณ์นี้เป็นสมาชิกหรือเป็นผู้ถือหุ้น

(10)     พิเคราะห์ และปฏิบัติตามข้อบันทึกของนายทะเบียนสหกรณ์ หรือรองนายทะเบียนสหกรณ์ หรือผู้ตรวจการสหกรณ์ หรือผู้สอบบัญชี  ซึ่งนายทะเบียนสหกรณ์แต่งตั้ง

(11)     กำหนดรูปการ ซึ่งสหกรณ์คิดจะทำเป็นเครื่องเกื้อหนุนบรรดาสมาชิกตามวัตถุประสงค์ของสหกรณ์