หมวด 8
คณะกรรมการดำเนินการ
ข้อ 72. คณะกรรมการดำเนินการ ให้ที่ประชุมใหญ่เลือกตั้งสมาชิกเป็นประธานกรรมการหนึ่งคนและกรรมการอื่นอีกสิบสี่คน ให้คณะกรรมการดำเนินการเลือกตั้งในระหว่างกันเอง เป็นรองประธานกรรมการคนหนึ่งหรือหลายคน เลขานุการคนหนึ่ง เหรัญญิกคนหนึ่ง นอกนั้นเป็นกรรมการ
ให้คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์เป็นผู้ดำเนินกิจการ และเป็นผู้แทนสหกรณ์ในกิจการอันเกี่ยวกับบุคคลภายนอก เพื่อการนี้ คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์จะมอบหมายให้กรรมการคนหนึ่งหรือหลายคนหรือผู้จัดการแทนก็ได้ห้ามมิให้บุคคลซึ่งมีลักษณะดังต่อไปนี้ เป็นหรือทำหน้าที่กรรมการ
(1) เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกเว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
(2) เคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ องค์การ หรือ หน่วยงานของรัฐหรือเอกชนฐานทุจริตต่อหน้าที่
(3) เคยถูกให้พ้นจากตำแหน่งกรรมการ หรือมีคำวินิจฉัยเป็นที่สุดให้พ้นจากตำแหน่งกรรมการ ตามมาตรา 22 (4) แห่งพระราชบัญญัติสหกรณ์ ( ฉบับที่ 2 ) พ.ศ.2553
(4) เคยถูกที่ประชุมใหญ่มีมติให้ถอดถอนออกจากตำแหน่งกรรมการ เพราะเหตุทุจริตต่อหน้าที่
ข้อ 73. อำนาจหน้าที่ของกรรมการดำเนินการแต่ละตำแหน่ง
(ก) ประธานกรรมการ มีอำนาจหน้าที่ ดังนี้
(1) เป็นประธานในที่ประชุมใหญ่ และที่ประชุมคณะกรรมการดำเนินการ และควบคุมการประชุมดังกล่าวให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย
(2) ควบคุม ดูแล การดำเนินงานทั่วไปของสหกรณ์ ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและอยู่ในวัตถุประสงค์ของสหกรณ์
(3) ลงลายมือชื่อในเอกสารต่าง ๆ ในนามสหกรณ์ตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับนี้
(4) ดำเนินการอื่น ๆ ตามที่คณะกรรมการดำเนินการมอบหมายให้ ภายใต้กฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบ มติ หรือคำสั่งของสหกรณ์
(ข) รองประธานกรรมการ มีอำนาจหน้าที่ ดังนี้
(1) ปฏิบัติการในอำนาจหน้าที่ของประธานกรรมการ แทนประธานกรรมการ เมื่อประธานกรรมการไม่อยู่ หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ หรือเมื่อตำแหน่งประธานกรรมการว่างลง
(2) ปฏิบัติการตามที่ประธานกรรมการมอบหมาย
(3) ดำเนินการอื่น ๆ ตามที่คณะกรรมการดำเนินการมอบหมายให้ ภายใต้กฎหมาย ข้อบังคับ มติ หรือ คำสั่งของสหกรณ์
(ค) เลขานุการ มีอำนาจหน้าที่ ดังนี้
(1) จัดทำรายงานการประชุมใหญ่ และรายงานการประชุมคณะกรรมการดำเนินการทุกครั้ง
(2) ดูแลรักษาเอกสาร และรายงานการประชุมของสหกรณ์ให้เรียบร้อยอยู่เสมอ
(3) แจ้งนัดประชุมใหญ่ หรือประชุมคณะกรรมการดำเนินการ ไปยังบรรดาสมาชิก หรือ กรรมการดำเนินการแล้วแต่กรณี
(4) ดำเนินการอื่น ๆ ตามที่คณะกรรมการดำเนินการมอบหมายให้ภายใต้ ข้อบังคับ ระเบียบ มติ หรือคำสั่งของสหกรณ์
(ง) เหรัญญิก มีอำนาจหน้าที่ ดังนี้
(1) ควบคุม ดูแล ตรวจสอบการรับ จ่าย และการเก็บรักษาเงินและทรัพย์สินของสหกรณ์ให้เป็นไปโดยถูกต้องเรียบร้อย
(2) ดำเนินการอื่น ๆ ตามที่คณะกรรมการดำเนินการมอบหมายให้ ภายใต้กฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบ มติ หรือคำสั่งของสหกรณ์
ข้อ 74. กำหนดเวลาอยู่ในตำแหน่ง ให้กรรมการดำเนินการอยู่ในตำแหน่งได้คราวละสองปี นับแต่วันเลือกตั้ง และในวันประชุมใหญ่สามัญประจำปีคราวต่อไป ให้ประธานกรรมการและกรรมการดำเนินการจำนวนหนึ่งในสอง ของกรรมการดำเนินการทั้งหมดออกจากการเป็นกรรมการโดยวิธีจับฉลาก และให้ถือว่าเป็นการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ และให้ที่ประชุมใหญ่เลือกตั้งกรรมการดำเนินการ เข้าดำรงตำแหน่งให้ครบตามจำนวนกรรมการดำเนินการที่กำหนดในแต่ละปี สำหรับในปีต่อไปให้กรรมการดำเนินการที่อยู่ในตำแหน่งงานนานที่สุด เป็นผู้ออกจากตำแหน่ง
กรณีที่กรรมการดำเนินการ ต้องพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะกรรมการดำเนินการที่ได้รับเลือกตั้งใหม่ ให้อยู่ได้เช่นเดียวกับกรรมการดำเนินการชุดแรก โดยนำความในวรรคหนึ่งมาใช้โดยอนุโลม
เมื่อครบกำหนดแล้ว หากยังไม่มีการเลือกตั้งคณะกรรมการดำเนินการชุดใหม่ ก็ให้คณะกรรมการดำเนินการชุดเดิมอยู่ในตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะมีการเลือกตั้งคณะกรรมการดำเนินการชุดใหม่ ประธานกรรมการหรือกรรมการดำเนินการซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระ (รวมทั้งการออกโดยวิธีจับฉลาก) อาจได้รับเลือกตั้งซ้ำได้ แต่จะอยู่ในตำแหน่งได้ไม่เกินสองวาระติดต่อกัน
ประธานกรรมการ หรือ กรรมการดำเนินการ ซึ่งอยู่ในตำแหน่งสองวาระติดต่อกัน ต้องเว้น ไม่น้อยกว่า หนึ่งปีทางบัญชี จึงจะสมัครใหม่ได้
ประธานกรรมการ หรือ กรรมการดำเนินการ ที่พ้นจากตำแหน่งก่อนครบวาระ ไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ ก็ตาม ให้ถือเป็นการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ
ข้อ 75. คณะผู้จัดตั้งสหกรณ์ เมื่อได้รับจดทะเบียนเป็นสหกรณ์แล้ว ให้คณะผู้จัดตั้ง สหกรณ์มีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบ เช่นเดียวกับคณะกรรมการดำเนินการของสหกรณ์ จนกว่าที่ประชุมใหญ่สามัญครั้งแรกจะได้เลือกตั้งคณะกรรมการดำเนินการขึ้น
ให้คณะผู้จัดตั้งสหกรณ์มอบหมายกิจการทั้งปวงให้แก่ คณะกรรมการดำเนินการในวันที่ได้รับเลือกตั้ง
ข้อ 76. การพ้นจากตำแหน่ง กรรมการดำเนินการต้องพ้นจากตำแหน่ง เพราะเหตุอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
(1) ถึงคราวออกตามวาระ
(2) ลาออก โดยแสดงความจำนง เป็นหนังสือต่อคณะกรรมการดำเนินการ
(3) ขาดจากสมาชิกภาพ
(4) เข้ารับตำแหน่งเป็นเจ้าหน้าที่ประจำในสหกรณ์นี้
(5) จงใจเป็นผู้ผิดนัดการส่งเงินงวดชำระหนี้ ไม่ว่าเงินต้นหรือดอกเบี้ย
(6) ที่ประชุมใหญ่ลงมติถอดถอนทั้งคณะ หรือ รายตัว
(7) นายทะเบียนสหกรณ์สั่งให้ออกทั้งคณะ หรือ รายตัว
(8) ขาดประชุมคณะกรรมการดำเนินการติดต่อกันสามครั้ง โดยไม่มีเหตุอันควร
ข้อ 77. ตำแหน่งว่างก่อนถึงคราวออกตามวาระ ถ้าตำแหน่งกรรมการดำเนินการว่างลงก่อนถึงคราวออกตามวาระ (เว้นแต่เพราะเหตุตามข้อ 76 (7)) ให้กรรมการดำเนินการที่ยังดำรงตำแหน่งอยู่ ประชุมดำเนินการต่อไปได้ จนกว่าจะมีการประชุมใหญ่ ซึ่งจะได้มีการเลือกตั้งกรรมการดำเนินการแทนในตำแหน่งที่ว่าง แต่ถ้าในเวลาใดจำนวนกรรมการดำเนินการลดลง จนเหลือน้อยกว่าองค์ประชุม กรรมการดำเนินการที่ดำรงตำแหน่งอยู่จะประชุมดำเนินการใด ๆ ไม่ได้ นอกจากต้องนัดเรียกให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญขึ้นโดยเร็ว
ในกรณีที่ตำแหน่งกรรมการดำเนินการว่างลงก่อนถึงคราวออกตามวาระ ตามความในวรรค
ก่อนนั้น เป็นตำแหน่งประธานกรรมการ หรือ รองประธานกรรมการ หรือ เลขานุการ หรือ เหรัญญิก และยังมิได้มีการประชุมใหญ่เพื่อเลือกตั้งใหม่ คณะกรรมการดำเนินการอาจพิจารณาเลือกตั้งกรรมการดำเนินการอื่นขึ้นทำหน้าที่แทนชั่วคราว จนกว่าจะมีการเลือกตั้งใหม่
กรรมการดำเนินการซึ่งที่ประชุมใหญ่เลือกตั้งขึ้นแทนในตำแหน่งที่ว่าง ให้อยู่ในตำแหน่ง ได้เพียงเท่ากำหนดเวลาที่ผู้ซึ่งตนแทนนั้นชอบที่จะอยู่ได้
ข้อ 78. การประชุมและองค์ประชุม ให้คณะกรรมการดำเนินการ ดำเนินการประชุมกันตามคราวที่มีกิจธุระ แต่จะต้องมีการประชุมกันเดือนละครั้งเป็นอย่างน้อย
ให้ประธานกรรมการ หรือรองประธานกรรมการ หรือเลขานุการ นัดเรียกประชุมคณะกรรมการดำเนินการได้ ในกรณีที่เป็นการประชุมเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงแก้ไขระเบียบข้อบังคับและเรื่องที่สำคัญอื่น ๆ ของสหกรณ์ ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ของกรมส่งเสริมสหกรณ์ และเจ้าหน้าที่กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ทราบด้วยทุกคราว
ในการประชุมคณะกรรมการดำเนินการ ต้องมีกรรมการดำเนินการมาประชุมไม่น้อยกว่า กึ่งหนึ่ง ของจำนวนกรรมการดำเนินการทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม
ข้อ 79. อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการดำเนินการ คณะกรรมการดำเนินการ มีอำนาจหน้าที่ดำเนินกิจการทั้งปวงของสหกรณ์ให้เป็นไปตามข้อบังคับ และตามมติของที่ประชุมใหญ่ กับทั้งในทางอันจะทำให้เกิดความเจริญแก่สหกรณ์ทุกประการ ซึ่งรวมทั้งในข้อต่อไปนี้
(1) ดำเนินการในเรื่องการรับสมาชิกและออกจากสหกรณ์ ตลอดจนดูแลให้สมาชิกปฏิบัติการต่าง ๆ ตามข้อบังคับ ระเบียบ และมติของสหกรณ์
(2) พิจารณาดำเนินการในเรื่องการรับฝาก การกู้ยืมเงิน การให้เงินกู้ และการฝากหรือลงทุนเงินของสหกรณ์
(3) กำหนดและดำเนินการเกี่ยวกับการประชุมใหญ่ และเสนองบดุล กับรายงานประจำปีแสดงผลการดำเนินงานของสหกรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่
(4) เสนอการจัดสรรกำไรสุทธิประจำปีต่อที่ประชุมใหญ่
(5) เสนอแผนงาน และงบประมาณรายจ่ายประจำปี ต่อที่ประชุมใหญ่อนุมัติ
(6) พิจารณากำหนดค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าพาหนะ ค่าเช่าที่พัก และค่าเบี้ยประชุม ของกรรมการดำเนินการ คณะกรรมการอื่น ๆ ที่ปรึกษาและที่ปรึกษากิตติมศักดิ์
(7) พิจารณาดำเนินการแต่งตั้งหรือจ้าง และกำหนดค่าตอบแทนแก่ผู้จัดการ ตลอดจนควบคุมดูแลการปฏิบัติงานของผู้จัดการให้เป็นการถูกต้อง
(8) พิจารณาดำเนินการแต่งตั้ง และกำหนดค่าตอบแทนแก่ผู้ตรวจสอบภายใน
(9) กำหนดระเบียบต่าง ๆ ของสหกรณ์
(10) จัดให้มีและดูแลให้เรียบร้อย ซึ่งบรรดาทะเบียน สมุดบัญชีเอกสารต่าง ๆ และบรรดาอุปกรณ์ดำเนินงานของสหกรณ์
(11) พิจารณาให้สหกรณ์สมัครเข้าเป็นสมาชิกของชุมนุมสหกรณ์ และองค์การอื่น
(12) พิจารณาดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการ หรือคณะอนุกรรมการ หรือคณะทำงาน เพื่อประโยชน์ในการดำเนินกิจการของสหกรณ์
(13) พิเคราะห์ และปฏิบัติตามข้อบันทึก ของนายทะเบียนสหกรณ์ หรือ รองนายทะเบียนสหกรณ์ หรือผู้ตรวจการสหกรณ์ หรือผู้สอบบัญชี หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งนายทะเบียนสหกรณ์มอบหมาย
(14) พิจารณาให้ความเที่ยงธรรมแก่บรรดาสมาชิก หรือสมาชิกสมทบ เจ้าหน้าที่และลูกจ้างของสหกรณ์ ตลอดจนสอดส่องดูแลโดยทั่วไป เพื่อให้กิจการของสหกรณ์ ดำเนินไปด้วยดี
(15) พิจารณารายงานของคณะกรรมการอื่น ๆ หรือผู้ตรวจสอบกิจการ หรือความเห็นของผู้จัดการ หรือสมาชิกเกี่ยวกับกิจการของสหกรณ์
(16) เชิญสมาชิกหรือบุคคลภายนอกที่เห็นสมควรเป็นที่ปรึกษาของคณะกรรมการดำเนินการ ตลอดจนกำหนดค่าตอบแทนให้ตามที่เห็นสมควร
(17) ฟ้อง ต่อสู้ หรือดำเนินคดีเกี่ยวกับกิจการของสหกรณ์ หรือประนีประนอมยอมความ หรือมอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการ พิจารณาชี้ขาด
(18) ทำการต่าง ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สิน ดังระบุไว้ในวัตถุประสงค์ของสหกรณ์
(19) พิจารณาแต่งตั้งกรรมการดำเนินการ เป็นผู้แทนของสหกรณ์ เพื่อเข้าประชุมใหญ่
และออกเสียงในการประชุมใหญ่ ของสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย และหรือชุมนุมสหกรณ์ หรือหน่วยงานอื่น ซึ่งสหกรณ์นี้เป็นสมาชิกหรือผู้ถือหุ้น ทั้งนี้ ตามที่ข้อบังคับของสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย และหรือชุมนุมสหกรณ์ หรือหน่วยงานนั้นกำหนดไว้
(20) พิจารณามอบอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการ ให้แก่ ประธานกรรมการรองประธานกรรมการ เลขานุการ เหรัญญิก หรือผู้จัดการ หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องได้ตามความเหมาะสม
ความรับผิดชอบของคณะกรรมการดำเนินการ
ข้อ 80. ความรับผิดชอบของคณะกรรมการดำเนินการ ถ้ากรรมการดำเนินการสหกรณ์ กระทำการ หรืองดเว้นกระทำการ หรือกระทำโดยประมาทเลินเล่อในการปฏิบัติหน้าที่ของตน จนทำให้เสื่อมเสียผลประโยชน์ของสหกรณ์หรือสมาชิก หรือสหกรณ์มีข้อบกพร่องเกี่ยวกับการเงิน การบัญชี หรือกิจการ หรือฐานะการเงิน ตามรายงานการสอบบัญชี หรือรายงานการตรวจสอบ เป็นเหตุให้ สหกรณ์ได้รับความเสียหาย คณะกรรมการดำเนินการต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายให้แก่สหกรณ์
คณะกรรมการอำนวยการ
ข้อ 81. คณะกรรมการอำนวยการ ให้ประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ เหรัญญิก และเลขานุการคณะกรรมการดำเนินการ เป็นกรรมการอำนวยการ และให้คณะกรรมการดำเนินการตั้งกรรมการอื่นเป็นกรรมการร่วมอีกตามสมควร แต่เมื่อรวมกับกรรมการโดยตำแหน่งแล้ว ต้องมีจำนวนไม่เกินห้าคน
ให้ประธานกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการดำเนินการ เป็นประธานและเลขานุการคณะกรรมการอำนวยการ
คณะกรรมการอำนวยการให้อยู่ในตำแหน่งได้เท่ากับกำหนดเวลาของคณะกรรมการดำเนินการ ให้คณะกรรมการอำนวยการประชุมกัน ตามคราวที่มีกิจธุระ และให้ประธานกรรมการอำนวยการ หรือ เลขานุการนัดเรียกประชุมได้
ในการประชุมคณะกรรมการอำนวยการ ต้องมีกรรมการอำนวยการมาประชุม ไม่น้อยกว่า กึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการอำนวยการทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม
ข้อวินิจฉัยทั้งปวงของคณะกรรมการอำนวยการ ให้เสนอคณะกรรมการดำเนินการในการประชุมคราวถัดไปพิจารณา
ข้อ 82. อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการอำนวยการ ให้คณะกรรมการอำนวยการเป็นผู้ดำเนินกิจการแทนคณะกรรมการดำเนินการ ตามที่ได้รับมอบหมาย และตามข้อบังคับ ระเบียบ มติ และคำสั่งของสหกรณ์ ซึ่งรวมทั้งในข้อต่อไปนี้
(1) ควบคุมในเรื่องการรับเงิน การจ่ายเงิน การสะสมเงิน การฝากเงิน หรือการเก็บรักษาเงิน ให้เป็นไปตามข้อบังคับ และระเบียบของสหกรณ์
(2) ควบคุมการจัดทำบัญชี และทะเบียนต่าง ๆ ของสหกรณ์ให้ถูกต้อง ครบถ้วน และเป็นปัจจุบันอยู่เสมอ
(3) ควบคุม กำกับ ดูแล เก็บรักษาเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ตลอดจนทรัพย์สินของสหกรณ์ ให้อยู่ในสภาพอันดีและปลอดภัย และพร้อมที่จะนำมาให้ผู้เกี่ยวข้องตรวจสอบได้ทันที
(4) เสนอแนะคณะกรรมการดำเนินการในการปรับปรุง หรือแก้ไขการบริหารงานของสหกรณ์
(5) ควบคุมการจัดทำงบดุล รวมทั้งบัญชีกำไรขาดุทน งบกระแสเงินสด และรายงานประจำปี แสดงผลการดำเนินงานของสหกรณ์ เสนอคณะกรรมการดำเนินการพิจารณา เสนอต่อที่ประชุมใหญ่
(6) เสนอการจัดสรรกำไรสุทธิประจำปีของสหกรณ์เสนอต่อคณะกรรมการดำเนินการพิจารณา เสนอให้ที่ประชุมใหญ่พิจารณา
(7) จัดทำแผนงาน และงบประมาณประจำปีของสหกรณ์ เสนอต่อคณะกรรมการดำเนินการพิจารณาและเสนอที่ประชุมใหญ่อนุมัติ
(8) ทำนิติกรรมต่าง ๆ เกี่ยวกับการดำเนินงานของสหกรณ์ ตามที่คณะกรรมการดำเนินการมอบหมาย
คณะกรรมการเงินกู้
ข้อ 83. คณะกรรมการเงินกู้ คณะกรรมการดำเนินการ อาจตั้งกรรมการดำเนินการของ สหกรณ์ จำนวนไม่เกินห้าคน เป็นกรรมการเงินกู้ โดยให้มีตำแหน่งประธานกรรมการหนึ่งคน และเลขานุการหนึ่งคน นอกนั้นเป็นกรรมการ
คณะกรรมการเงินกู้ ให้อยู่ในตำแหน่งได้เท่ากับกำหนดเวลาของคณะกรรมการดำเนินการ ซึ่งตั้งคณะกรรมการเงินกู้นั้น
ให้คณะกรรมการเงินกู้ประชุมกัน ตามคราวที่มีกิจธุระ แต่จะต้องมีการประชุมกันเดือนละครั้งเป็นอย่างน้อย และให้ประธานกรรมการเงินกู้ หรือเลขานุการนัดเรียกประชุมได้
ในการประชุมคณะกรรมการเงินกู้ ต้องมีกรรมการเงินกู้เข้าประชุมไม่น้อยกว่า กึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการเงินกู้ทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม
ข้อวินิจฉัยทั้งปวงของคณะกรรมการเงินกู้ ให้นำเสนอคณะกรรมการดำเนินการพิจารณา ในการประชุมคราวถัดไป
ข้อ 84. อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการเงินกู้ ให้คณะกรรมการเงินกู้มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการเสนอคณะกรรมการดำเนินการอนุมัติเงินกู้แก่สมาชิก ตามข้อบังคับ ระเบียบ มติ และคำสั่ง ของสหกรณ์รวมทั้งข้อต่อไปนี้
(1) ตรวจสอบการใช้เงินกู้ของสมาชิกให้เป็นไปตามความมุ่งหมายที่ให้เงินกู้นั้น
(2) ตรวจสอบควบคุมให้เงินกู้ มีหลักประกันตามที่กำหนดไว้ในระเบียบของสหกรณ์
และเมื่อเห็นว่าหลักประกันสำหรับเงินกู้รายใดเกิดบกพร่อง ก็ต้องกำหนดให้ผู้กู้จัดการแก้ไขให้คืนดี
(3) ดูแลการชำระหนี้ของสมาชิกผู้กู้ ให้เป็นไปตามที่กำหนดในสัญญา
(4) สอบสวนเบื้องต้นให้ได้ข้อความจริง ในกรณีสมาชิกผู้กู้ขอผ่อนเวลาการส่งเงิน
งวดชำระหนี้เงินกู้ หรือผิดนัดการส่งเงินงวดชำระหนี้ เพื่อเสนอความเห็นให้คณะกรรมการดำเนินการ ดำเนินการพิจารณาผ่อนผัน หรือเรียกคืนเงินกู้ หรือสอบสวนลงโทษให้สมาชิกออกจากสหกรณ์
คณะกรรมการศึกษาและประชาสัมพันธ์
ข้อ 85. คณะกรรมการศึกษาและประชาสัมพันธ์ คณะกรรมการดำเนินการอาจตั้งกรรมการดำเนินการ จำนวนไม่เกินห้าคนเป็นคณะกรรมการศึกษาและประชาสัมพันธ์ โดยให้มีตำแหน่งเป็นประธานหนึ่งคน และเลขานุการหนึ่งคน นอกนั้นเป็นกรรมการ
คณะกรรมการศึกษาและประชาสัมพันธ์ ให้อยู่ในตำแหน่งได้เท่าที่กำหนดเวลาของคณะกรรมการดำเนินการ ซึ่งตั้งคณะกรรมการศึกษาและประชาสัมพันธ์นั้น
ให้คณะกรรมการศึกษาและประชาสัมพันธ์ ประชุมกันตามคราวที่มีกิจธุระ และให้ประธานกรรมการศึกษาและประชาสัมพันธ์ หรือเลขานุการนัดเรียกประชุมได้
ในการประชุมคณะกรรมการศึกษาและประชาสัมพันธ์ ต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่า กึ่งหนึ่งของคณะกรรมการศึกษาและประชาสัมพันธ์ทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม
ให้คณะกรรมการศึกษาและประชาสัมพันธ์ รายงานผลการปฏิบัติงานให้คณะกรรมการดำเนินการพิจารณาในการประชุมคราวถัดไป
ข้อ 86. อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการศึกษาและประชาสัมพันธ์ ให้คณะกรรมการศึกษาและประชาสัมพันธ์มีอำนาจและหน้าที่ดำเนินกิจการตามข้อบังคับ ตลอดจนระเบียบของสหกรณ์ในส่วนที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนมติและคำสั่งของคณะกรรมการดำเนินการ ซึ่งรวมทั้งในข้อต่อไปนี้
(1) ให้การศึกษาอบรมสมาชิก และผู้ที่สนใจให้ทราบถึงเจตนารมณ์ หลักวิธีการ และการบริหารงานของสหกรณ์
(2) ประชาสัมพันธ์ให้สมาชิก และบุคคลภายนอกได้ทราบถึงผลงานของสหกรณ์ ที่ได้ดำเนินงานไป
(3) ดำเนินการในการหาผู้สมัครเข้าเป็นสมาชิก
(4) ให้การศึกษาอบรมแก่สมาชิก ถึงวิธีการออมทรัพย์ และการใช้จ่ายเงินอย่างรอบคอบ ตลอดจนวิชาการต่าง ๆ อันจะเป็นประโยชน์ต่อการประกอบอาชีพ
(5) ศึกษา และติดตามข่าวความเคลื่อนไหว ด้านการดำเนินงานของสหกรณ์อื่น
ทั้งในและนอกประเทศ เพื่อนำตัวอย่างที่ดีมาเสนอคณะกรรมการดำเนินการพิจารณานำมาบริการแก่สมาชิก
ประธานในที่ประชุม
ข้อ 87. ประธานในที่ประชุม ในการประชุมใหญ่ หรือการประชุมคณะกรรมการดำเนินการ ให้ประธานกรรมการเป็นประธานในที่ประชุม ถ้าประธานกรรมการไม่อยู่ในที่ประชุม ก็ให้รองประธานกรรมการเป็นประธานในที่ประชุม และถ้ารองประธานกรรมการไม่อยู่ในที่ประชุมด้วย ก็ให้ที่ประชุมเลือกตั้งกรรมการดำเนินการคนหนึ่งขึ้นเป็นประธานในที่ประชุม เฉพาะการประชุมคราวนั้น ในการประชุมคณะกรรมการอื่น ๆ เช่น คณะกรรมการอำนวยการ คณะกรรมการเงินกู้ คณะกรรมการศึกษาและประชาสัมพันธ์ ให้ประธานกรรมการนั้น ๆ เป็นประธานในที่ประชุม ถ้าประธานคณะกรรมการไม่อยู่ในที่ประชุม ก็ให้ที่ประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม เฉพาะการประชุมคราวนั้น
การออกเสียงและการวินิจฉัยปัญหาในที่ประชุม
ข้อ 88. การออกเสียง สมาชิกหรือผู้แทนสมาชิก กรรมการดำเนินการ หรือกรรมการอื่น ๆ ออกเสียงในที่ประชุมใหญ่ หรือที่ประชุมคณะกรรมการดำเนินการ หรือที่ประชุมคณะกรรมการอื่น ๆ หรือที่ประชุมคณะอนุกรรมการ หรือที่ประชุมคณะทำงาน สุดแต่กรณีได้เพียงคนละหนึ่งเสียง จะมอบให้ผู้อื่นมาประชุมและออกเสียงแทนตนไม่ได้
ถ้าปัญหาซึ่งที่ประชุมวินิจฉัยนั้น ผู้ใดมีส่วนได้เสียเป็นพิเศษเฉพาะตัว ผู้นั้นจะออกเสียงในเรื่องนั้นไม่ได้
ข้อ 89. การวินิจฉัยปัญหา เว้นแต่จะได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นในข้อบังคับนี้ การวินิจฉัยปัญหาต่าง ๆ ในที่ประชุมใหญ่ หรือที่ประชุมคณะกรรมการดำเนินการ หรือที่ประชุมคณะกรรมการอื่น ๆ หรือคณะกรรมการ หรือคณะทำงาน ให้ถือคะแนนเสียงข้างมาก ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด เว้นแต่ในกรณีต่อไปนี้ ให้ถือเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิก หรือผู้แทนสมาชิกซึ่งมาประชุม
(1) การแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับ
(2) การควบสหกรณ์
(3) การแยกสหกรณ์
(4) การเลิกสหกรณ์
รายงานการประชุม
ข้อ 90. รายงานการประชุม ในการประชุมใหญ่ หรือการประชุมคณะกรรมการดำเนินการ หรือการประชุมคณะกรรมการอื่น ๆ หรือคณะกรรมการ หรือคณะทำงานนั้น ต้องจัดให้ผู้เข้าประชุมลงลายมือชื่อ พร้อมทั้งบันทึกเรื่องที่พิจารณาวินิจฉัยทั้งสิ้นไว้ในรายงานการประชุม และให้ประธานในที่ประชุมกับกรรมการดำเนินการ หรือกรรมการอื่น หรือคณะกรรมการ หรือคณะทำงาน แล้วแต่กรณีอีกคนหนึ่งที่เข้าประชุมนั้น ๆ ลงลายมือชื่อไว้เป็นสำคัญ
|