ระเบียบ
สหกรณ์ออมทรัพย์สาธารณสุขอุทัยธานี จำกัด
ว่าด้วย กองทุนช่วยเหลือผู้ค้ำประกันเงินกู้สามัญ
พ.ศ.2548
-------------------------------------------
อาศัยอำนาจตามความในข้อบังคับของสหกรณ์ออมทรัพย์สาธารณสุขอุทัยธานี จำกัด ข้อ 79 (9) และข้อ 100 (2) มติที่ประชุมคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ ชุดที่ 16 ครั้งที่ 11/2548 กำหนดระเบียบ ว่าด้วย กองทุนช่วยเหลือผู้ค้ำประกันเงินกู้สามัญ ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ระเบียบนี้ เรียกว่า “ ระเบียบสหกรณ์ออมทรัพย์สาธารณสุขอุทัยธานี จำกัด ว่าด้วย กองทุนช่วยเหลือผู้ค้ำประกันเงินกู้สามัญ พ.ศ. 2548 ”
ข้อ 2 ระเบียบนี้ ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2548 เป็นต้นไป
ข้อ 3 ในระเบียบนี้
สหกรณ์ หมายถึง สหกรณ์ออมทรัพย์สาธารณสุขอุทัยธานี จำกัด
คณะกรรมการดำเนินการ หมายถึง คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ออมทรัพย์
สาธารณสุขอุทัยธานี จำกัด
สมาชิก หมายถึง สมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์สาธารณสุข อุทัยธานี จำกัด
กองทุน หมายถึง กองทุนช่วยเหลือผู้ค้ำประกันเงินกู้สามัญ
สมาชิกกองทุน หมายถึง สมาชิกกองทุนช่วยเหลือผู้ค้ำประกันเงินกู้สามัญ
ปีบัญชี หมายถึง ปีบัญชีสหกรณ์ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน ของปี
ปัจจุบัน ถึง วันที่ 31 ตุลาคม ของปีถัดไป
หมวด 1
การจัดตั้งกองทุน
ข้อ 4 ให้สหกรณ์จัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือผู้ค้ำประกันเงินกู้สามัญ ในกรณีที่ผู้กู้ขาดจากการเป็นสมาชิกภาพของสหกรณ์ ซึ่งผู้กู้ไม่สามารถชำระหนี้เงินกู้สามัญได้ครบถ้วน และผู้ค้ำประกันต้องรับภาระหนี้เงินกู้แทนผู้กู้ โดยสหกรณ์จะนำรายได้ของกองทุนมาช่วยเหลือผู้ค้ำประกัน ให้ชื่อว่า “กองทุนช่วยเหลือผู้ค้ำประกันเงินกู้สามัญ”
ข้อ 5 สมาชิกกองทุน ได้แก่ สมาชิกผู้กู้เงินกู้สามัญ โดยสมาชิกด้วยกันค้ำประกัน ซึ่งสมาชิกจะเป็นสมาชิกของกองทุนโดยสมบูรณ์ เมื่อสหกรณ์ได้หักเงินเข้ากองทุนเรียบร้อยแล้ว
หมวด 2
การจ่ายเงินเข้ากองทุน
ข้อ 6 ให้สหกรณ์หักเงินจากสมาชิกผู้กู้เงินกู้สามัญ โดยหักจากจำนวนของเงินกู้ที่ได้รับอนุมัติจากสหกรณ์ ดังนี้
1. สมาชิกผู้กู้เงินกู้สามัญ โดยใช้บุคคลค้ำประกัน ให้สหกรณ์หักเงินในอัตราร้อยละ 0.25 ของจำนวนวงเงินกู้สามัญ
2. สมาชิกผู้กู้เงินกู้สามัญ โดยใช้สมาชิกและหุ้นค้ำประกัน ให้สหกรณ์หักเงินในอัตราร้อยละ 0.25 ของจำนวนวงเงินที่บุคคลค้ำประกันต้องรับผิดชอบในวงเงินกู้สามัญ
3. สมาชิกผู้กู้เงินกู้สามัญ โดยใช้หุ้นค้ำประกัน สหกรณ์จะไม่หักเงินเข้ากองทุน
ข้อ 7 สมาชิกกองทุน ซึ่งได้ชำระหนี้เงินกู้สามัญไประยะหนึ่งแล้ว และมีความประสงค์จะขอกู้เงินกู้สามัญใหม่ ให้สหกรณ์ดำเนินการ ดังนี้
1. การกู้เงินกู้สามัญใหม่ ในจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้นจากจำนวนเงินกู้สามัญตามสัญญาเดิม สหกรณ์จะหักเงินเข้ากองทุนเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 0.25 ของยอดต่างในวงเงินกู้สัญญาฉบับใหม่ กับวงเงินกู้ในสัญญาฉบับเดิม
2. การกู้เงินกู้สามัญใหม่ ในจำนวนเงินที่เท่ากับจำนวนเงินกู้ตามสัญญาเดิม สหกรณ์จะไม่หักเงินเข้ากองทุน
3. การกู้เงินสามัญใหม่ ในจำนวนเงินที่น้อยกว่าเงินกู้ตามสัญญาฉบับเดิม สหกรณ์จะคืนเงินกองทุนให้ ในส่วนที่จะต้องจ่ายคืน ร้อยละ 0.25 ของยอดต่างในวงเงินกู้ตามสัญญาฉบับใหม่ กับ วงเงินกู้ในสัญญาฉบับเดิม
ข้อ 8 ให้สหกรณ์จัดทำทะเบียนคุมเงินที่หักจากสมาชิกผู้กู้เงินกู้สามัญ ในการนำเงินเข้ากองทุน
ข้อ 9 เงินที่สหกรณ์หักจากสมาชิกผู้กู้เงินกู้สามัญ ให้เปิดบัญชี โดยใช้ชื่อบัญชีว่า “กองทุน
ช่วยเหลือผู้ค้ำประกันเงินกู้สามัญ”
ข้อ 10 ให้สหกรณ์จัดสรรเงินสมทบอุดหนุนกองทุนช่วยเหลือผู้ค้ำประกันเงินกู้สามัญ ในจำนวนเดียวกันกับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สามัญ รวมกับจำนวนกองทุนที่มีอยู่ในขณะนั้น เงินสมทบอุดหนุนกองทุนให้เปิดบัญชีโดยใช้ชื่อบัญชีว่า “เงินสมทบอุดหนุนกองทุนช่วยเหลือผู้ค้ำประกันเงินกู้สามัญ”
ข้อ 11 ให้สหกรณ์จัดสรรเงินจากผลกำไรสุทธิประจำปี ปีละ 20,000.- บาท (สองหมื่นบาทถ้วน)
เข้ากองทุน ซึ่งยอดเงินรวมที่จัดสรรให้กองทุน รวมแล้วต้องไม่เกิน 500,000.- บาท (ห้าแสนบาทถ้วน)
หมวด 3
การจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ค้ำประกัน
ข้อ 12 สมาชิกกองทุนที่มีหนี้ผูกพันกับสหกรณ์ ต่อมาได้ขาดจากการเป็นสมาชิกภาพของสหกรณ์ ให้สหกรณ์นำเงินค่าหุ้น เงินฝาก เงินได้อื่นใด อันสมาชิกกองทุนพึงได้จากสหกรณ์ เงินฌาปนกิจสงเคราะห์ หรือเงินได้อื่น ๆ หักกลบลบหนี้ หากยังมีหนี้เงินกู้เหลืออยู่ ให้สหกรณ์ติดตามหนี้สินคงเหลือโดยถึงที่สุดก่อน หลังจากนั้น คงเหลือหนี้สินที่ยังคงค้างชำระอยู่เป็นจำนวนเงินเท่าไร ให้สหกรณ์โอนเงินสมทบอุดหนุนช่วยเหลือผู้ค้ำประกันเงินกู้สามัญ เพื่อชำระหนี้เงินกู้ในอัตราร้อยละ 25 ของหนี้เงินกู้สามัญที่คงเหลือ แต่ไม่เกินวงเงิน 50,000.- บาท
(ห้าหมื่นบาทถ้วน) ทั้งนี้ หากยังคงมีภาระหนี้ที่ผูกพันคงเหลือ ให้ผู้ค้ำประกันเป็นผู้รับภาระในการชำระหนี้แทน
ข้อ 13 ในกรณีที่เงินอุดหนุนช่วยเหลือผู้ค้ำประกันเงินกู้สามัญที่มีอยู่ไม่เพียงพอในการจ่าย ตามข้อ 12 สหกรณ์จะเฉลี่ยจำนวนเงิน ให้ตามเงินสมทบอุดหนุนที่มีอยู่
ข้อ 14 เงินที่ได้รับจากการติดตามทวงหนี้จากสมาชิกกองทุน ให้โอนเข้าบัญชีเงินสมทบอุดหนุนช่วยเหลือผู้ค้ำประกันเงินกู้สามัญ เท่ากับจำนวนเงินที่จ่ายช่วยเหลือผู้ค้ำประกัน
ข้อ 15 การจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ค้ำประกันเงินกู้สามัญ ให้จ่ายจากรายได้ของกองทุน ตามข้อ 10 ข้อ 11 และข้อ 14
ข้อ 16 การจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ค้ำประกันเงินกู้สามัญ ให้จ่ายปีละครั้ง เมื่อสิ้นปีบัญชีของปีนั้น ๆ สหกรณ์จะนำหนี้ค้างชำระ ตามข้อ 12 ทั้งหมดในรอบปีบัญชีมารวมกัน แล้วนำเงินรายได้ของกองทุนที่มีอยู่มาเฉลี่ยให้ตามสัดส่วน
ข้อ 17 ให้สหกรณ์ติดตามทวงหนี้จากลูกหนี้ให้ถึงที่สุดเมื่อชำระหนี้แทนเงินช่วยเหลือผู้ค้ำประกัน
หมวด 4
การจ่ายเงินกองทุนคืนสมาชิก
ข้อ 18 สมาชิกกองทุนที่ได้ชำระหนี้ตามสัญญาเงินกู้สามัญครบถ้วนแล้ว สหกรณ์จะจ่ายคืนเงินที่หักเข้ากองทุน ภายใน 7 วันทำการ นับตั้งแต่วันที่ครบกำหนดตามสัญญาเงินกู้สามัญ
หมวด 5
เบ็ดเตล็ด
ข้อ 19 การดำเนินการเกี่ยวกับกองทุนช่วยเหลือผู้ค้ำประกันเงินกู้สามัญ และเงินสมทบอุดหนุนช่วยเหลือผู้ค้ำประกันเงินกู้สามัญ ต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการดำเนินการ ด้วยมติไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของกรรมการที่ประชุมในขณะนั้น
ข้อ 20 สมาชิกที่มีหนี้เงินกู้สามัญอยู่ก่อนระเบียบนี้ใช้บังคับ ถ้าประสงค์จะสมัครเข้าเป็นสมาชิกกองทุน ให้แสดงความจำนงต่อสหกรณ์ และชำระเงินเข้ากองทุนตามจำนวนเงินกู้สามัญที่มีหนี้คงค้างอยู่กับ สหกรณ์ ตามอัตราที่กำหนดในข้อ 6
ประกาศ ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2548
ลงชื่อ โชคราชัน ชัยฤกษ์สุขสันต์
(นายแพทย์โชคราชัน ชัยฤกษ์สุขสันต์)
ประธานกรรมการ
สหกรณ์ออมทรัพย์สาธารณสุขอุทัยธานี จำกัด
|