ระเบียบ
สหกรณ์ออมทรัพย์สาธารณสุขอุทัยธานี จำกัด
ว่าด้วย การให้สหกรณ์อื่นกู้ยืมเงิน
พ.ศ. 2552
......................................
อาศัยอำนาจตามความในข้อบังคับสหกรณ์ออมทรัพย์สาธารณสุขอุทัยธานี จำกัด พ.ศ. 2548 ข้อ 79 (9) และ ข้อ 100 (7) มติที่ประชุมคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ ชุดที่ 20 ครั้งที่ 10 / 2552 วันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2552 ได้กำหนดระเบียบ ว่าด้วย การให้สหกรณ์อื่นกู้ยืมเงิน โดยความเห็นชอบจากนายทะเบียนสหกรณ์ ดังต่อไปนี้
ข้อ 1. ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบสหกรณ์ออมทรัพย์สาธารณสุขอุทัยธานี จำกัด ว่าด้วย การให้สหกรณ์อื่นกู้ยืมเงิน พ.ศ. 2552”
ข้อ 2. ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2552 เป็นต้นไป
ข้อ 3. ในระเบียบนี้
“สหกรณ์” หมายความว่า สหกรณ์ออมทรัพย์สาธารณสุขอุทัยธานี จำกัด
“คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ออมทรัพย์สาธารณสุขอุทัยธานี จำกัด
“ผู้จัดการ” หมายความว่า ผู้จัดการสหกรณ์ออมทรัพย์สาธารณสุขอุทัยธานี จำกัด
“สหกรณ์ผู้ขอกู้” หมายความว่า สหกรณ์ที่ได้จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายและรวมถึงชุมนุมสหกรณ์ด้วย
ข้อ 4. สหกรณ์ผู้ขอกู้ จะต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้
(1) ไม่มีข้อบกพร่องทางการเงินและการบัญชี หรือถ้ามี ต้องได้รับการแก้ไขจนเป็นที่พอใจของสหกรณ์แล้ว
(2) มีความมั่นคงทางการเงิน และมีความสามารถในการชำระหนี้
(3) มีความสามารถในการจัดการที่ดี และได้ปฏิบัติตามกฎหมายข้อบังคับระเบียบของสหกรณ์ และระเบียบทางราชการโดยเคร่งครัดสม่ำเสมอ
(4) มีคุณสมบัติอื่น ๆ ตามหลักเกณฑ์ที่สหกรณ์กำหนด
ข้อ 5. สหกรณ์จะให้เงินกู้แก่สหกรณ์ผู้ขอกู้ที่มีวัตถุประสงค์จะใช้เงินกู้เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนให้สมาชิกกู้ หรือเพื่อการดำเนินธุรกิจอื่นของสหกรณ์ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ในข้อบังคับและระเบียบอันเหมาะสมเท่านั้น
ข้อ 6. จำนวนเงินที่ให้แก่สหกรณ์ผู้ขอกู้สหกรณ์หนึ่ง ๆ ต้องไม่เกินร้อยละ 25 ของทุนเรือนหุ้นรวมกับทุนสำรองของสหกรณ์แต่เมื่อรวมหนี้เงินกู้ทุกรายของสหกรณ์ผู้ขอกู้แล้วจะต้องไม่เกินวงเงินกู้ยืมหรือค้ำประกัน ประจำปีที่ได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียนสหกรณ์
ข้อ 7. หลักประกันเงินกู้ให้คณะกรรมการดำเนินการของสหกรณ์ผู้กู้ทั้งคณะค้ำประกันเป็น
รายบุคคลและให้จัดหาอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ที่มีมูลค่าไม่น้อยกว่าจำนวนเงินกู้จำนองเป็นประกัน เว้นแต่ในกรณีจำเป็นที่สหกรณ์ผู้ขอกู้ไม่มีหลักทรัพย์หรือไม่สามารถหาหลักทรัพย์มาใช้เป็นหลักประกันเงินกู้ได้ ให้คณะกรรมการดำเนินการของสหกรณ์ผู้ขอกู้ทั้งคณะเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ และในกรณีผู้ค้ำประกันคนใดพ้นจากตำแหน่งก่อนที่สหกรณ์ผู้ขอกู้จะชำระหนี้เสร็จสิ้น ให้สหกรณ์ผู้ขอกู้จัดให้กรรมการดำเนินการคนใหม่เป็น
ผู้ค้ำประกันแทนคนเดิม
ข้อ 8. การกำหนดระยะเวลาชำระคืนเงินกู้ ให้คณะกรรมการพิจารณากำหนดให้ สหกรณ์ที่
ขอกู้เงินชำระคืนต้นเงินและดอกเบี้ยให้เสร็จสิ้นภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ในแผนการใช้เงินกู้ แต่ต้องไม่เกินหกสิบเดือน
ข้อ 9. อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ให้คณะกรรมการเป็นผู้กำหนดตามความเหมาะสมกับภาวะการเงิน โดยประกาศเป็นคราว ๆ ไป การคิดดอกเบี้ยเงินกู้ให้คิดเป็นรายวัน โดยนับถัดจากวันรับเงินกู้
ข้อ 10. ในกรณีที่มีเหตุสุดวิสัยหรือความจำเป็นเกิดขึ้นอันทำให้สหกรณ์ผู้ขอกู้ไม่สามารถชำระคืนเงินกู้ได้ตามกำหนด ให้สหกรณ์ผู้ขอกู้ยื่นคำร้องขอผ่อนผันเลื่อนกำหนดเวลาชำระคืนเงินกู้ต่อสหกรณ์ เพื่อให้คณะกรรมการพิจารณาการผ่อนผันให้ขยายเวลาชำระคืนเงินกู้ และระงับการเสียเบี้ยปรับ ในช่วงระยะเวลาที่ได้รับการผ่อนผันได้ตามที่เห็นสมควร
ข้อ 11. สหกรณ์ผู้กู้ไม่ชำระคืนเงินกู้เมื่อถึงกำหนด โดยไม่ได้รับการผ่อนผันจากคณะกรรมการหรือไม่มีเหตุผลอันสมควร จะต้องเสียเบี้ยปรับผิดนัดชำระหนี้เป็นรายวันในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของต้นเงินที่ผิดนัด โดยนับถัดจากวันที่ถึงกำหนดชำระจนถึงวันที่สหกรณ์ผู้ขอกู้ชำระเงินกู้เสร็จสิ้น
ข้อ 12. การขอกู้ ให้สหกรณ์ผู้ขอกู้ยื่นหนังสือแสดงความจำนงระบุวัตถุประสงค์ในการใช้เงินกู้จำนวนเงินที่ขอกู้ ระยะเวลาชำระหนี้พร้อมด้วยหลักฐานดังต่อไปนี้
(1) สำเนารายงานการประชุมคณะกรรมการดำเนินการ ครั้งที่มีการพิจารณาเรื่องขอกู้เงินจากสหกรณ์
(2) งบการเงินและรายงานการสอบบัญชีประจำปีล่าสุด พร้อมด้วยรายงานกิจการประจำปี
(3) งบทดลอง ณ วันสิ้นสุดเดือน ก่อนวันยื่นหนังสือแสดงความจำนงขอกู้ และย้อนหลังอีก 2 เดือน
(4) สำเนาหลักฐานการจดทะเบียนเป็นสหกรณ์
(5) ข้อบังคับของสหกรณ์ รวมทั้งระเบียบการเงินของสหกรณ์
(6) รายนามคณะกรรมการดำเนินการ ตำแหน่งในคณะกรรมการดำเนินการ และตำแหน่งในหน่วยงานที่สังกัด (ถ้ามี) พร้อมทั้งวาระของการดำรงตำแหน่งของกรรมการดำเนินการ
(7) สำเนาหนังสือให้ความเห็นชอบของนายทะเบียนสหกรณ์ ในการกำหนดวงเงินกู้ยืมหรือค้ำประกันประจำปี
(8) สำเนาหลักฐานการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงิน หรือบุคคลซึ่งสหกรณ์ได้กู้ยืมไว้และยังมีภาระผูกพันอยู่
(9) เอกสารอื่น ๆ ที่สหกรณ์กำหนด
ข้อ 13. ให้ผู้จัดการตรวจสอบเอกสารหลักฐานและวิเคราะห์ฐานะความมั่นคงความสามารถในการชำระหนี้และการจัดการ เสนอผลการวิเคราะห์พร้อมทั้งความเห็นต่อคณะกรรมการเพื่อพิจารณาอนุมัติต่อไป
ข้อ 14. ถ้าสหกรณ์ผู้ขอกู้จะกู้เงินจากแหล่งเงินอื่น ในระหว่างที่ยังมีหนี้เงินกู้อยู่ต่อสหกรณ์ ต้องแจ้งให้สหกรณ์ทราบ
ข้อ 15. ในกรณีใดกรณีหนึ่งดังต่อไปนี้ ให้สหกรณ์เรียกคืนเงินกู้และให้สหกรณ์ผู้ขอกู้ชำระคืนต้นเงินพร้อมทั้งดอกเบี้ยแก่สหกรณ์โดยทันที แม้ยังไม่ถึงกำหนดตามสัญญาเงินกู้ก็ตาม
(1) เมื่อสหกรณ์ผู้ขอกู้ต้องเลิกไม่ว่าเพราะเหตุใด
(2) เมื่อปรากฏว่าสหกรณ์ผู้ขอกู้ฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม ข้อ 14 แห่งระเบียบนี้
(3) เมื่อปรากฏว่าสหกรณ์ผู้ขอกู้ใช้เงินกู้ไม่ถูกต้องตามวัตถุประสงค์ที่ระบุไว้ในสัญญาเงินกู้
(4) เมื่อสหกรณ์ผู้ขอกู้ผิดนัดไม่ชำระเงินกู้ตามกำหนดและคณะกรรมการไม่ได้ผ่อนเวลาให้
(5) เมื่อมีเหตุผลที่คณะกรรมการเห็นว่าสหกรณ์นั้นไม่สมควรกู้เงินสหกรณ์ต่อไป
ข้อ 16. เมื่อคณะกรรมการอนุมัติเงินกู้แล้ว ให้ผู้จัดการแจ้งให้สหกรณ์ผู้ขอกู้ทราบโดยเร็ว เพื่อจัดทำสัญญากู้ และจัดทำหลักประกันให้เรียบร้อย แล้วจึงจัดส่งเงินกู้ให้สหกรณ์ผู้ขอกู้ต่อไป
ข้อ 17. การทำสัญญากู้ ให้จัดทำตามแบบที่สหกรณ์กำหนด และให้ผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อแทนสหกรณ์ ตามข้อบังคับของสหกรณ์ และสหกรณ์ผู้ขอกู้ เป็นผู้ลงชื่อในสัญญากู้ที่ทำกับสหกรณ์
ข้อ 18. การให้เงินกู้แก่สหกรณ์ผู้ขอกู้โดยใช้ตั๋วสัญญาใช้เงินเป็นหลักฐานแทนการทำสัญญากู้ ให้สามารถกระทำได้ โดยจำนวนเงินกู้ให้เป็นไปตามข้อ 6 ของระเบียบนี้ สำหรับหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติอื่น ๆ ให้คณะกรรมการพิจารณากำหนดขึ้นได้ตามความเหมาะสม และไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่สหกรณ์
ประกาศ ณ วันที่ 30 เดือน กันยายน พ.ศ. 2552
(ลงชื่อ) นิพนธ์ โตวิวัฒน์
(นายแพทย์นิพนธ์ โตวิวัฒน์)
ประธานกรรมการ
สหกรณ์ออมทรัพย์สาธารณสุขอุทัยธานี จำกัด
|